พรหมวิหาร4 หลักธรรมสำคัญสุดแห่ง ภาวะผู้นำ

      คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลักธรรมะ กับภาวะผู้นำนั้น มีความสอดคล้องกันอย่างมหัศจรรย์เลยทีเดียว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ประหลาดใจว่า พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงตรัสรู้ด้านหลักธรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ภาวะผู้นำ และทางแห่งความสุขได้ อีกทั้งมีผู้นำหลักธรรมคำสอนของท่านไปปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้นำหลายๆ ท่านได้นำไปใช้เป็นหลักในการบริหาร การเป็นผู้นำจนประสบความสำเร็จมานักต่อนักแล้ว


     หนึ่งในหลักธรรม ที่มีความสำคัญ และสอดคล้องกับ ภาวะผู้นำมากที่สุด จากหลายๆ หลักธรรม และเป็นหลักธรรมที่ผู้นำควรจะศึกษา และยึดถือเป็นอันดับแรกสุดก็คือ หลักแห่ง " พรหมวิหาร 4 "

      หลักแห่งพรหมวิหาร 4 ได้รับการพิสูจน์จากผู้เชี่ยวชาญทางด้าน ภาวะผู้นำ หลายๆ ท่านแล้วว่าเป็นหลักธรรมที่จะนำผู้นำ ไปสู่ความสำเร็จสูงสุด ซึ่งหนังสือที่ผู้เชี่ยวชาญด้าน ภาวะผู้นำ ระดับโลกเขียนขึ้นหากอ่านดูแล้ว ไม่พ้นหลักแห่งพรหมวิหาร 4 เกี่ยวข้องด้วยทุกเล่ม

      ผมจึงได้นำหลักแห่งพรหมวิหาร 4 ในพระพุทธศาสนา มาอธิบายให้ทุกท่านได้ทราบ ซึ่งในบทความนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะเผยแพร่ ศาสนา แต่อย่างใด แต่ผมรับประกันได้ว่า ทุกคน หรือผู้นำบนโลกใบนี้ทุกคน ทุกชนชั้น ทุกศาสนา สามารถนำหลักธรรมนี้ไปปฏิบัติได้อย่างเห็นผล

      หลัก " พรหมวิหาร 4 " มีดังนี้

1.เมตตา รู้สึกสงสารผู้อื่น เอ็นดูผู้อื่นอยู่เสมอ แม้ใครจะด่าจะว่า หรือใครจะมาทำร้าย ก็ยังนึกเอ็นดูสงสารในคนเหล่านั้น หากมีศัตรู ก็คิดกับศัตรูดั่งมนุษย์ที่น่าสงสารคนนึงที่ยังเวียนว่ายตายเกิดหาที่สุดไม่ได้ มองศัตรูด้วยสายตาที่เอ็นดูดั่งสายตาของมารดาแลดูบุตร สิ่งนี้จะทำให้ท่านมีแววตาเป็นประกายดั่งแก้วใส และมีพลังทำให้คนที่คิดร้ายหรือศัตรูต่างๆเปลี่ยนใจมาคิดดีต่อเรา ไปที่ไหนคนก็รักใคร่ อยากใกล้ชิด แม้ว่าจะเพิ่งรู้จักกันก็ตาม เพราะกระแสพลังของความเมตตา มีพลังมากที่สุดในโลกใบนี้ เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก


2.กรุณา ยื่นมือช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ ช่วยเหลือแม้กระทั่งศัตรู ช่วยแม้กระทั่งไม่ทำให้ศัตรูโกรธเรา ช่วยไม่ให้เค้าเผลอก่อกรรมกับเรา เค้าด่ามาก็ไม่ด่าตอบ เพื่อช่วยให้เค้าไม่มีเวรกับเรา เห็นขอทาน หรือคนที่เดือดร้อนก็ช่วยเหลือแบบไม่ต้องตระหนี่ พระพุทธองค์สอนให้ทำทาน เพื่อลดความตระหนี่ในตัว และเผื่อแผ่ช่วยเหลือกันและกัน เป็นการทำบุญซึ่งถือว่าเป็นอริยทรัพย์ตามติดไปภพหน้าได้ทุกภพ ท่านจะดูมีสง่าราศี แม้แต่หมายังไม่กล้ากัด มีแต่เดินตามกระดิกหาง หรือคนเจอหน้าก็รักใคร่ ไปที่ไหนคนก็อยากเสวนาด้วย


3.มุทิตา ยินดีในสิ่งที่ผู้อื่นมี ยินดีในสิ่งที่ผู้อื่นเป็น ใครจะได้ดีกว่าเราก็ยินดีกับเค้า เค้าทำความดีเราก็อนุโมทนา ไม่อิจฉาริษยา ไม่ไปนินทาให้ร้ายเค้า ไม่หมันไส้หรือน้อยเนื้อต่ำใจใดๆ ส่วนใครด่าว่าเราก็ยินดีในเสียงที่ด่าเข้ามา เสียงนินทาเราก็ยินดีที่เค้าได้นินทาเราไป เพราะแสดงว่าเราได้เคยทำกรรมกับเขามาก่อน เราจึงต้องมาโดนด่าในวันนี้ ส่วนที่เราต้องยินดี นั่นก็เพราะว่าเราได้มีโอกาสได้ชดใช้กรรมแล้ว เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสชดใช้กรรมให้หมดไปโดยไม่เกิดการจองเวรกัน และได้บุญเพิ่มขึ้นอีกอย่างนึง คือ อภัยทาน
      นี่เป็นการทำให้เรายินดีน้อมรับแม้แต่คำด่าคำติฉินนินทา ยินดีที่ผู้อื่นดีกว่าเรา ยินดีที่เราไม่มีวันจะเก่งเหมือนใคร พอใจที่เกิดมาแบบนี้ แล้วท่านจะมีเสน่ห์มาก จะมีความมั่นใจในตัวเอง และสีหน้าสว่างไสว ความหมองจะไม่มี


4.อุเบกขา การวางเฉย ระลึกเสมอว่า ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนอย่างแท้จริง เขาก็มีสิทธิ์ที่จะเลวหรือดี เขาก็ยังเวียนว่ายตายเกิดเหมือนเรา เขาทำอะไรมา ท่านก็วางเฉย อย่าไปเอามาเก็บจนปั่นป่วนใจ มีใจเป็นกลาง ใครมาพูดอะไรกระทบใจ ก็ทำใจเฉยๆไว้ เหมือนสายลมโชยที่พัดคลอใบหู ไม่มีแก่นสารใดๆให้มาทำร้ายใจเราได้ ใครทำอะไรมาก็วางเฉย เพราะเชื่อในกรรมว่า กรรมจะจัดสรรผลกรรมได้ยุติธรรมที่สุด ความทุกข์ที่แท้จริงคือทุกข์ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้น
     ดังนั้นแค่ใครด่าว่าเรามันเป็นเรื่องจิ๊บๆ ขำๆ ให้วางเฉยซะ ความทุกข์เล็กๆน้อยๆจะทำอะไรเราไม่ได้เลย มองความทุกข์พวกนั้น ให้เล็กน้อยเหมือนสายลมโชยผ่านสลายไป เรื่องที่ต้องทำคือเรื่องตัวเอง ว่าทำยังไง ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ไม่ต้องไปยุ่งเรื่องคนอื่นไม่ต้องไปแก้นิสัยใคร ไม่ต้องไปเก็บคำพูดหรือการกระทำคนอื่นมาจ้องจับผิดหรือตีโพยตีพาย หรือเอามาใส่ใจจนเจ็บข้ามวันข้ามคืน แล้วท่านจะมีเสน่ห์มาก ใครเห็นใครรัก เวลาดวงตกก็จะไม่หนักเหมือนคนอื่น นี่คือพลังของอุเบกขา


          หากผู้นำ หรือคุณนำความมี  เมตตา + กรุณา + มุทิตา + อุเบกขา คิดดูสิครับ ความเป็นผู้นำของคุณจะพัฒนาขนาดไหน ท่านจะเป็นผู้นำที่มี ภาวะผู้นำ เป็นผู้มีเสน่ห์ต่อลูกน้อง และมีจิตใจสงบเยือกเย็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำ ใฝ่ฝันหากันในปัจจุบันนี้ครับ



แด่ภาวะผู้นำที่มีอยู่ในตัวคุณ

ธวัชชัย สุวรรณสาร
ที่ปรึกษาด้านภาวะผู้นำ




    

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น